Loading...

Loading
รับฝากขายบ้าน : บ้านมือสอง

สงกรานต์นี้ เที่ยวตามรอยละครบุพเพสันนิวาส ฟินกันให้เต็มที่กันเลยขอรับ

09 เมษายน 2561

           สงกรานต์นี้หากยังไม่มีแผนไปเที่ยวที่ไหน วันนี้บ้านบางกอกจะขอนำออเจ้าย้อนเวลา ไปชมกับ 15 โลเคชั่น ที่เป็นสถานที่ถ่ายทำละคร "บุพเพสันนิวาส" ให้ออเจ้าได้ตามรอยแม่หญิงการะเกดได้ไปเช็คอิน...ให้ฟินกันเต็มที่กันเลยขอรับ

1. วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


          วัดไชยวัฒนาราม เป็นฉากที่สำคัญในหลาย ๆ ตอนของเรื่องบุพเพสันนิวาส ตั้งแต่ฉากเริ่มเริื่องแรก ๆ ที่เกศสุรางค์และเรืองฤทธิ์ได้มาหาข้อมูลทางโบราณคดีที่วัดแห่งนี้ จนพบเจอกับวิญญาณของการะเกด หรือแม้แต่ฉากที่การะเกดกำลังจะตาย ก็ได้มองวัดนี้เป็นภาพสุดท้าย และยังมีอีกหลายตอนที่มีอ้างอิงถึงวัดแห่งนี้


1.1.jpg


1.2.jpg
ภาพจาก : ละครบุพเพสันนิวาส ช่อง 3

1.3.jpg

ภาพจาก : ละครบุพเพสันนิวาส ช่อง 3

          วัดไชยวัฒนาราม เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างขึ้นในช่วง พ.ศ. 2173 โดยพระเจ้าปราสาททอง กษัตริย์อยุธยาในสมัยนั้นโปรดให้สร้างขึ้น ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย เช่น พระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ เป็นปรางค์ประธานที่ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่ละมุมของฐานมีปรางค์ประจำทิศตั้งอยู่ด้วย ซึ่งเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมแบบสมัยอยุธยาตอนต้น นอกจากนี้ก็ยังมีจุดอื่น ๆ ที่ห้ามพลาด อาทิ ระเบียงคด, พระอุโบสถ, เมรุ, ภาพปูนปั้น, พระประธาน เป็นต้น เปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ในช่วงเวลา 19.30-21.00 น. จะมีการเปิดไฟส่องไปยังโบราณสถานภายในวัด บรรยากาศสวยงามมาก 


2. วัดพุทไธศวรรย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


          วัดพุทไธศวรรย์ เป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญในเรื่องบุพเพสันนิวาส ตามเนื้อเรื่องวัดนี้จะเป็นสถานที่ฝึกดาบฝึกอาคมของลูกศิษย์อาจารย์ชีปะขาว รวมทั้งหมื่นสุนทรเทวา (ภายหลังเลื่อนยศเป็นขุนศรีวิสารวาจา) และหมื่นเรืองราชภักดี การะเกดได้ลอดผ่านม่านอาคมของอาจารย์ชีปะขาวเข้ามายังบริเวณวัดแห่งนี้ 


2.1.jpg
ภาพจาก : audiochet.com

2.2.jpg
ภาพจาก : ละครบุพเพสันนิวาส ช่อง 3

          วัดพุทไธศวรรย์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านทิศตะวันตก บริเวณตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา เป็นสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอู่ทอง หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 1896 เป็นพระอารามหลวงที่พระองค์โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นพระราชอนุสรณ์ในการสถาปนากรุงศรีอยุธยา และเมื่อครั้งที่เสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310 วัดนี้ไม่ได้ถูกกองทัพพม่าทำลายมากนัก ปัจจุบันจึงยังมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ สิ่งที่โดดเด่นภายในวัด ก็คือ ปรางค์พระประธาน มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมแบบขอมสีขาวสวยงาม นอกจากนี้ก็ยังมีสิ่งอื่น ๆ ที่น่าเที่ยวชม อาทิ มณฑป 2 หลังที่อยู่ด้านข้างของปรางค์พระประธาน, พระอุโบสถ, หมู่พระเจดีย์สิบสององค์, วิหารพระนอน, พระตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์, พระนอน เป็นต้น 


3. วัดธรรมาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 


_MG_8390.jpg

          วัดธรรมาราม ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดเล็ก ๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา มีอายุไม่ต่ำกว่า 400 ปี  อดีตที่นี่เป็นฐานที่มั่นในการตั้งค่ายของพม่า เพราะอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดี ใกล้กับปากแม่น้ำลพบุรี และมีทุ่งกว้างเรียกว่า ทุ่งประเชต อยู่ด้านหลังของวัด แต่เมื่อเสียกรุง ในปี พ.ศ. 2310 วัดนี้ก็ถูกเผาทำลาย แต่เมื่อขึ้นสู่สมัยรัตนโกสินทร์ ก็มีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่อีกครั้ง ความสำคัญของวัดธรรมารามอีกหนึ่งข้อคือ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศ มีพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่สำคัญดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส คือ พระอุบาลีมหาเถระ พระสงฆ์ที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับพุทธศาสนาในสมัยนั้น และปัจจุบันก็มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พระอุบาลีมหาเถระขึ้นที่นี่ด้วย โดยจัดแสดงประวัติ เครื่องใช้ เครื่องอัฐบริขารของพระอุบาลีมหาเถระจากประเทศศรีลังกา เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00-16.30 น. 



4. วัดเชิงท่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


          วัดเชิงท่า ตั้งอยู่ที่ตำบลวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา มีบันทึกไว้ว่าวัดนี้เป็นวัดที่พระยาโกษาธิบดี (ปาน) ราชทูตไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ปฏิสังขรณ์หลังจากที่กลับมาจากฝรั่งเศส และเปลี่ยนชื่อเป็น วัดโกษาวาส และวัดนี้ก็ยังเป็นสถานศึกษาของนายสิน หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ เพื่อการศึกษาภาษาไทย ขอมและพระไตรปิฎก สิ่งสำคัญภายในวัด ก็คือ ปรางค์ห้ายอดสมัยอยุธยา มีการก่อฐานพระปรางค์เป็นทรงแท่งสี่เหลี่ยมจัตุรัสและสร้างวิหารยื่นออกไปเป็นรูปกากบาทหรือไม้กางเขน ทางทิศใต้สร้างเป็นวิหารขนาดใหญ่เป็นมหาปราสาทยอดปรางค์ หาชมได้ยากยิ่ง 

วัดเชิงท่า.jpg
ภาพจาก : ayutthayastation.com

          นอกจากนี้ยังมีธรรมาสน์ปิดทองคำเปลวงดงามตั้งอยู่ภายในศาลาการเปรียญ โดยเชื่อกันว่าลายจำหลักไม้หน้าบันนั้นเป็นของดั้งเดิมที่เหลือรอดมาจากครั้งกรุงแตก นักท่องเที่ยวสามารถไปเที่ยวชมได้ทุกวัน 


5. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 


          พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ตั้งอยู่บนถนนโรจนะ ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา มีอาคารจัดแสดงถึง 3 อาคารด้วยกัน คือ 1. หมู่อาคารเรือนไทย สร้างอยู่ในสระน้ำ มีลักษณะเป็นเรือนไทยภาคกลาง ภายในจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ของผู้คนในอดีต 2. อาคารศิลปะในประเทศไทย มี 2 ชั้น จัดแสดงศิลปวัตถุสมัยต่าง ๆ ที่รวบรวมได้จากจังหวัดอยุธยา และ 3. อาคารเจ้าสามพระยา จัดแสดงศิลปวัตถุสำคัญ ๆ จากสมัยอยุธยา โดยรวมแล้วที่นี่มีสมบัติล้ำค่ามากมาย 


5.1.jpg
ภาพจาก : museumsiam


5.2.jpg
ภาพจาก : ละครบุพเพสันนิวาส ช่อง 3


        เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2504 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ผู้ทรงสร้างพระปรางค์วัดราชบูรณะเป็นนามพิพิธภัณฑ์ด้วย ใครที่สนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์สมัยโบราณ และอยากเห็นข้าวของต่าง ๆ ในสมัยอยุธยา สามารถมาเที่ยวชมได้ทุกวันพุธ-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. 


6. หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน จังหวัดสระบุรี


          หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน ตั้งอยู่เลขที่ 48 หมู่ 6 ตำบลดาวเรือง อำเภอเมืองสระบุรี ก่อตั้งโดยอาจารย์ทรงชัย วรรณกุล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวน มีการรวบรวมสถานที่และสิ่งของ อาทิ เรือนของเจ้าเมืองสระบุรี, เรือนของพันตรีหลวงจบกระบวนยุทธ, เรือนของเสือคง โจรเลื่องชื่อในอดีตในจังหวัดสุพรรณบุรี, ผ้าทอโบราณ, เรือพื้นบ้านที่ใช้ในลุ่มน้ำป่าสักและภาคกลางกว่า 20 ลำ เป็นต้น การจัดแสดงจะจำลองให้มีองค์ประกอบเหมือนบ้านที่อยู่อาศัยจริง ในแต่ละห้องก็จะจัดแสดงวัตถุและบรรยากาศแบบชาวไทยวนในด้านต่าง ๆ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น.

6.1.jpg
ภาพจาก เฟซบุ๊ก หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี

Untitled-1.jpg
ภาพจาก : ละครบุพเพสันนิวาส ช่อง 3

7. ตลาดน้ำดาวเรือง จังหวัดสระบุรี 


          ตลาดน้ำดาวเรือง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักในตำบลดาวเรือง อำเภอเมืองสระบุรี เป็นตลาดน้ำบรรยากาศย้อนยุค มีโครงอาคารจากวัสดุธรรมชาติ ทำให้เข้ากันกับบรรยากาศของริมแม่น้ำป่าสัก ชาวบ้านจะขายสินค้าท้องถิ่นในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นผัก-ผลไม้พื้นบ้าน อาหารพื้นบ้าน ขนมพื้นบ้าน สินค้าหัตถกรรมทำมือจากชาวบ้านในชุมชน ราคาย่อมเยา สามารถมาเที่ยวชมได้ทุกวันเสาร์ เวลา 10.00-16.00 น. 


8. เพนียดคล้องช้าง จังหวัดอยุธยา 


          เพนียดคล้องช้าง หรือวังช้างอยุธยา แล เพนียด ตั้งอยู่ที่ตำบลสวนพริก อำเภอพระนครศรีอยุธยา เป็นสถานที่พักพิงดูแลช้างและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันโด่งดังของเมืองไทย ด้านในมีการจัดให้นักท่องเที่ยวได้มาป้อนกล้วย-อ้อยช้าง ถ่ายรูปกับช้างอย่างใกล้ชิด ซึ่งมีช้างมากกว่า 100 เชือกให้ได้ชมกัน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการจัดกิจกรรมสุดพิเศษอย่างการดูแลช้าง ทั้งการอาบน้ำช้าง การขัดผิวช้าง การฝึกช้าง การทำอาหารสมุนไพรให้ช้าง ฯลฯ ให้นักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมอย่างสนุกสนาน ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก วังช้างอยุธยา แล เพนียด Ayutthaya Elephant Palace & Royal Kraal

DSC_0476-(Cover).jpg
8.2.jpg
ภาพจาก : ละครบุพเพสันนิวาส ช่อง 3


9. วัดพระคริสตประจักษ์ เกาะใหญ่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


          วัดพระคริสตประจักษ์ เกาะใหญ่ ตั้งอยู่ติดกับริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ในเขตหมู่ 1 ตำบลไม้ตรา อำเภอบางไทร เริ่มสร้างวัดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 1888 ถือได้ว่าเป็นสถานที่สำคัญของชาวคริสตังในหมู่บ้านเกาะใหญ่ พระคริสตประจักษ์หลังปัจจุบันนั้น มีสถาปัตยกรรมที่สวยงามโดดเด่น เป็นอาคารสไตล์ยุโรป 2 ชั้น มีหอระฆังอยู่ด้านบน ภายในมีภาพวาดฝาผนังที่เก่าแก่และสวยงาม บรรยากาศเงียบสงบ น่าเที่ยวชม ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก วัดพระคริสตประจักษ์ เกาะใหญ่

9.2.jpg
ภาพจาก : ละครบุพเพสันนิวาส ช่อง 3

9.3.jpg
ภาพจาก : ละครบุพเพสันนิวาส ช่อง 3

10. ค่ายสุรสีห์ จังหวัดกาญจนบุรี


          ค่ายสุรสีห์ ได้มาเป็นสถานที่ถ่ายทำฉากสำคัญในเรื่องบุพเพสันนิวาส โดยเฉพาะฉากที่หมื่นสุนทรเทวาจมน้ำ แล้วเกศสุรางค์ได้ช่วยชีวิตด้วยวิธีการผายปอด สำหรับค่ายสุรสีห์ได้เคยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตั้งอยู่ที่ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ด้านในมีการจำลองเมืองโบราณและตลาดน้ำโบราณ ปัจจุบันในส่วนของตลาดน้ำนั้นเปิดให้นักท่องเที่ยวไปเที่ยวชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00--18.00 น. ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท มีรถนำเที่ยวรอบ ๆ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก ตลาดน้ำกองถ่ายฯ ค่ายสุรสีห์ หรือโทรศัพท์ 09 2896 0854 

10.1.jpg
ภาพจาก : ละครบุพเพสันนิวาส ช่อง 3


11. เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ 


          เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ถ่ายทำฉากย้อนยุคของละครเรื่องบุพเพสันนิวาส มีหลายฉากทีเดียวค่ะ โดยเฉพาะฉากที่นั่งเรือไปเที่ยวเยี่ยมชมเมืองอยุธยา 

เมืองโบราณ1.jpg


บุพเพ.jpg
          ภาพจาก : ละครบุพเพสันนิวาส ช่อง 3

        สำหรับเมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นที่เที่ยวสวย ๆ ที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ นิดเดียว ตั้งอยู่ที่ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ มีพื้นที่ทั้งหมดราว ๆ 800 ไร่ ภายในเมืองโบราณจะมีการจำลองงานสถาปัตยกรรมไทยหลากหลายยุค หลากหลายสมัยมาไว้ที่นี่ พร้อมทั้งมีการจัดจำลองบรรยากาศให้เข้ากับงานสถาปัตยกรรมนั้น ๆ และยังมีการจัดสรรพื้นที่ ปรับแต่งภูมิทัศน์ให้สวยงาม ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่นานาพรรณ ทำถนนลาดยางอย่างดี เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเดิน ปั่นจักรยาน หรือขับรถยนต์ส่วนบุคคลเที่ยวชมได้อย่างสะดวก 

          นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-19.00 น. มีค่าเข้าชมหลายแบบ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ancientcitygroup.net 



12. บ้านหลวงรับราชทูต จังหวัดลพบุรี 


          บ้านหลวงรับราชทูต หรือบ้านหลวงวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน / Constantine Phaulkon) จะถูกพูดถึงในตอนที่เกศสุรางค์ และครอบครัวหมืื่นสุนทรเทวาไปเยือนเมืองละโว้ เกศสุรางค์ได้เดินทางไปเยี่ยมแม่มะลิ หรือมารี กีมาร์ (Marie Guimar) หรือท้าวทองกีบม้าที่บ้านหลังนี้ 
       

12.1.jpg


บ้านพระยา.jpg
          ภาพจาก : ละครบุพเพสันนิวาส ช่อง 3

         ปัจจุบันที่นี่ตั้งอยู่บนถนนวิชาเยนทร์ ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี มีลักษณะเป็นกลุ่มบ้านที่ก่อสร้างขึ้นด้วยอิฐ มีสถาปัตยกรรมแบบยุโรป มีกำแพงล้อมโดยรอบ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ ด้านทิศตะวันตก เป็นตึก 2 ชั้นหลังใหญ่ 1 หลัง และอาคารชั้นเดียวแคบยาว มีซุ้มประตูทางเข้าเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม, พื้นที่ตรงกลาง มีฐานสิ่งก่อสร้าง สันนิษฐานว่าเป็นหอระฆัง และมีโบสถ์คริสตศาสนา พร้อมกับซุ้มประตูทางเข้ารูปจั่ว และด้านทิศตะวันตก มีกลุ่มอาคารใหญ่ 2 ชั้น ซึ่งมีบันไดทางขึ้นเป็นรูปครึ่งวงกลม ซุ้มประตูก็เป็นโค้งครึ่งวงกลมด้วยเช่นกัน ในอดีตที่นี่เป็นสถานที่รับรองเอกอัครราชทูตจากฝรั่งเศสของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดยในช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ได้พำนักอยู่ที่นี่เป็นคนสุดท้าย จึงเรียกกันว่าบ้านเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ปัจจุบันที่นี่หลงเหลือเพียงซากปรักหักพัง แต่ก็ยังเห็นโครงสร้างต่าง ๆ อย่างชัดเจน นักท่องเที่ยวสามารถไปเที่ยวชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น. 


13. พระที่นั่งไกรสรสีหราช


          พระที่นั่งไกรสรสีหราช  (พระที่นั่งเย็น หรือตำหนักทะเลชุบศร) จะถูกพูดถึงตอนที่เกศสุรางค์และหมื่นสุนทรเทวาไปเที่ยวชมเมืองละโว้อีกเช่นกัน ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้มีการก่อสร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่ประทับพักร้อน และใช้สำรวจจันทรุปราคา มีลักษณะเป็นพระที่นั่งชั้นเดียวก่ออิฐถือปูน ผังอาคารเป็นทรงจัตุรมุข แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหน้าเป็นห้องโถงมีมุขเด็จ, ส่วนกลางเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ และส่วนหลังเป็นที่พักฝ่ายใน สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ด้วยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเคยใช้เป็นสถานที่สำรวจจันทรุปราคา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2228 และทอดพระเนตรสุริยุปราคา เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2231 ร่วมกับคณะทูตและบาทหลวงจากประเทศฝรั่งเศสที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ส่งมาเจริญสัมพันธไมตรี ปัจจุบันที่นี่หลงเหลือเพียงแค่ซากกำแพงและผนัง เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.

13.1.jpg


14. ป้อมเพชร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 


          ป้อมเพชร ถูกพูดถึงอยู่หลายครั้งในละครเรื่องบุพเพสันนิวาส แต่ฉากที่เด่นชัดที่สุดคือ ตอนที่หมื่นสุนทรเทวา พาเกศสุรางค์ไปป่าผ้าเหลือง แล้วต้องผ่านป้อมแห่งนี้ ปัจจุบันป้อมเพชรตั้งอยู่ใกล้กับวัดสุวรรณดาราราม ตรงข้ามกับวัดพนัญเชิงวรวิหาร ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา เป็นป้อมปราการริมแม่น้ำอยู่บริเวณที่บรรจบของแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำป่าสัก ซึ่งมักจะมีน้ำวนใหญ่อยู่บริเวณนี้ ในอดีตป้อมแห่งนี้สำคัญมาก เป็นด่านปราการศัตรูที่ดี เพราะถ้าข้าศึกรุกรานเข้ามาแล้วไม่ชำนาญ ก็อาจจะทำให้เรือล่มบริเวณน้ำวนได้ ลักษณะของป้อมปราการแห่งนี้ก่อขึ้นด้วยอิฐสลับกับศิลาแลง หนา 14 เมตร มีรูปทรงหกเหลี่ยม ยื่นออกจากแนวกำแพง มีช่องคูหา หรือเชิงเทิน ก่อเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม ใช้เป็นที่ตั้งปืนใหญ่ สมัยอยุธยาบริเวณนี้จะเป็นย่านที่พักที่อาศัยของพ่อค้าทั้งชาวจีน ชาวฮอลันดา และชาวฝรั่งเศส ถือได้ว่าเป็นท่าเรือที่สำคัญด้วย


13362006271336201214l.jpg
ภาพจาก : matichon.co.th

14.2.jpg
ภาพจาก : ละครบุพเพสันนิวาส ช่อง 3


15. สะพานบ้านดินสอ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา 


          สะพานบ้านดินสอ เป็นอีกสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา และจากละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ก็มีฉากที่ขุนศรีวิสารววาจา ได้พาเกศสุรางค์ไปเลือกซื้อดินสอไม้และสมุดที่ป่า (ตลาด) บ้านดินสอ 

18.1.jpg
ภาพจาก : ละครบุพเพสันนิวาส ช่อง 3

18.2.jpg
ภาพจาก : ละครบุพเพสันนิวาส ช่อง 3         

        ปัจจุบันสะพานบ้านดินสอ ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา มีลักษณะเป็นสะพานอิฐมอญ ทอดข้ามผ่านคลองฉะไกรน้อย เพื่อเชื่อมระหว่างป่าดินสอและวัดบรมพุทธาราม ด้านล่างของสะพานเป็นทางลอดเรือโค้งไม่ใหญ่มากนัก เพื่อให้เรือเล็กสัญจรไปมาได้ แต่ปัจจุบันหลงเหลือเพียงซากสะพานเท่านั้น ตัวลำคลองฉะไกรน้อยก็หลงเหลือเป็นเพียงสระน้ำเล็ก ๆ รายล้อมไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ร่มรื่น




ขอบคุณที่มาข้อมูล : travel.mthai.com , travel.kapook.com , library.tru.ac.th, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลพบุรี, ช่อง3, info.dla.go.thinfothailand.euayutthaya.go.thsac.or.thmuseumsiam.orgเฟซบุ๊ก หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรีmuseumthailand.comเฟซบุ๊ก วังช้างอยุธยา แล เพนียด Ayutthaya Elephant Palace & Royal Kraalเฟซบุ๊ก วัดพระคริสตประจักษ์ เกาะใหญ่catholichaab.comayutthaya.go.thททท.library.tru.ac.thททท.library.tru.ac.thตลาดน้ำกองถ่ายฯ ค่ายสุรสีห์ancientcitygroup.net 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาที่ท่านอาจสนใจ เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้น นโยบายคุกกี้และนโยบายความเป็นส่วนตัว