Loading...

Loading
รับฝากขายบ้าน : บ้านมือสอง

ทำอย่างไร? เมื่อกู้ไม่ผ่านเพราะติดเป็นผู้กู้ร่วม

23 มกราคม 2562

สำหรับใครที่กำลังอยากกู้ซื้อบ้านใหม่ แต่ติดปัญหาเป็น "ผู้กู้ร่วม" ของบ้านหลังอื่นอยู่ วันนี้บ้านบางกอก ขอเสนอแนวทางแก้ไขสำหรับผู้กู้ร่วม แต่ก่อนอื่น เราควรมารู้จักกับคำว่า "ผู้กู้ร่วม" กันก่อน 

5.jpg

การเป็นผู้กู้ร่วม คือ การเป็นหนี้ร่วม ผู้กู้ร่วมจึงมีหน้าที่ต้องช่วยผ่อนชำระหนี้เงินกู้นั้นด้วย แม้ว่าในทางปฏิบัติแล้วหลายๆคน อาจเป็นผู้กู้ร่วมแต่เพียงในนาม หรือเป็นเพียงใส่ชื่อผู้กู้ร่วมเพื่อเพิ่มรายได้ให้ได้ตามเกณฑ์ที่จะได้รับอนุมัติสินเชื่อเท่านั้น 

2.jpg

ดังนั้นการเป็นผู้กู้ร่วมนั้นถือว่า เป็นหนี้ร่วมกัน ซึ่งยกตัวอย่างในกรณี กู้ร่วม 1 ล้านบาท ร่วมกู้ 2 คน ก็จะเท่ากับ รับภาระหนี้คนละ 5 แสนบาท หากผู้กู้ร่วมต้องการเป็นผู้กู้หลักในบ้านหลังที่สอง ภาระหนี้เหล่านี้ก็จะติดตัวไปด้วย ซึ่งเท่ากับเป็นการลดทอนความสามารถในการกู้ใหม่ และเป็นสาเหตุทำให้กู้ไม่ผ่านดังเคสที่ยกตัวอย่างข้างต้น และถ้าต้องการแยกตัวมากู้เอง ก็จะต้องทำเรื่องขอถอนชื่อจากการเป็นผู้กู้ร่วม ซึ่งสามารถทำได้ครับ

6.jpg

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย...เนื่องจากธนาคารต้องประเมินว่า หากถอนชื่อผู้กู้ร่วมไปเหลือผู้กู้เพียงคนเดียว รายได้หรือความสามารถในการผ่อนชำระ(ของผู้กู้หลัก)เพียงพอหรือไม่? เบื้องต้นธนาคารจะพิจารณาว่า ผู้กู้ที่เหลืออยู่มีความสามารถในการผ่อนชำระหรือไม่ ซึ่งโดยปกติแล้วยอดผ่อนชำระจะต้องไม่เกิน 40-50% ของรายได้ในแต่ละเดือน

ถ้าเป็นกรณีที่ผ่อนกันมาหลายปีแล้ว เหลือวงเงินกู้เพียงเล็กน้อย การขอถอนชื่อมักไม่มีปัญหา หรือเวลาผ่านไป รายได้ของผู้กู้หลักรายเดียวเพียงพอสำหรับเกณฑ์มาตรฐานของธนาคารแบบนี้ก็ไม่มีปัญหา แต่ส่วนใหญ่ที่เป็นปัญหา ไม่สามารถถอนชื่อออกได้ก็เพราะเพิ่งจะผ่อนได้ไม่กี่ปี วงเงินกู้ยังเหลืออีกเยอะ  ผู้กู้หลักคนเดียว มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ของธนาคาร อย่างไรก็ตาม หากผู้กู้ร่วมยืนยันที่จะถอนชื่อออกไป ในขณะที่ผู้กู้หลักไม่สามารถกู้คนเดียวได้ ทางออกที่เหลือคือ ต้องหาผู้กู้ร่วมคนใหม่มาแทนผู้กู้ร่วมที่ถอนออกไป

7.jpg

ขั้นตอนการถอนชื่อผู้กู้ร่วม
เนื่องจากในการกู้ร่วมนั้น ธนาคารมักกำหนดให้ผู้กู้ร่วมมีชื่อเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในหลักประกันจำนองนั้นด้วย ดังนั้น เมื่อมีการถอนชื่อออกสิ่งที่ต้องทำคือ 
- ทำเรื่องเปลี่ยนแปลงสัญญากับธนาคาร
- ทำเรื่องเปลี่ยนสัญญากรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดิน
- มีค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ 2% ของราคาประเมิน 
- มีการคิดภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายด้วย (หลักการ = ผู้กู้ร่วมขายกรรมสิทธิ์)

สุดท้าย เชื่อว่าทุกท่านคงเข้าใจเรื่องการกู้ร่วมกันมากขึ้นแล้ว ดังนั้นหากใครต้องการกู้บ้านร่วมกัน ขอให้ท่านคิดถึงผลในอนาคตข้างหน้า ก่อนจะตัดสินใจ รวมไปถึงการกู้ร่วมถึงแม้แค่เป็นการกู้ร่วมกันในนาม ก็ควรคิดให้ดีๆก่อนจะเซ็นต์ชื่อกันด้วยนะครับ

ขอบคุณข้อความจาก 
www.home.co.th

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาที่ท่านอาจสนใจ เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้น นโยบายคุกกี้และนโยบายความเป็นส่วนตัว